2616 จำนวนผู้เข้าชม |
เผาเทียน เล่นไฟ สุโขทัย
ประเพณีลอยกระทง ไม่ปรากฏหลักฐานระบุแน่ชัดว่าเริ่มตั้งแต่เมื่อใด แต่เชื่อว่าประเพณีลอยกระทงนี้ได้สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า "พิธีจองเปรียง" หรือ "การลอยพระประทีป" และมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียน เล่นไฟ ว่า เป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุด ของกรุงสุโขทัย ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทง จังหวัดสุโขทัย ร่วมกับกรมศิลปากร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย ขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เพื่อเป็นการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ประเพณีลอยกระทงและส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยใช้ชื่องานตามคำในหลักศิลาจารึกว่า "งานเผาเทียนเล่นไฟ" โดยกำหนดจัดขึ้นทุกปีในวันเพ็ญเดือน 12 (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12) หรือประมาณเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
โดยภายในงานจะมีพิธีรับรุ่งอรุณแห่งความสุข ณ อุโบสถวัดตระพังเงิน, พิธีบวงสรวงบุรพกษัตริย์สุโขทัยทุกพระองค์ ณ บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช, การแสดงพลุ ตะไล ไฟพะเนียง โคมชักโคมแขวน, การประกวดนางนพมาศ, การจัดกิจกรรมชุมชนโบราณ ตลาดโบราณ การละเล่นพื้นบ้าน การแสดงทางวัฒนธรรมไทย, การแสดงและจัดจำหน่ายสินค้าสหกรณ์และ OTOPและการแสดงแสง เสียง และกิจกรรมจำลองวิถีชีวิตสมัยสุโขทัย เป็นต้น
ลอยกระทงสาย จังหวัดตาก
ประเพณีลอยกระทงสายจังหวัดตาก เป็นประเพณี ที่แสดงการคารวะแม่น้ำปิงของประชาชนจังหวัดตาก ซึ่งมีตำนานบอกเล่าต่อ ๆ กันมาว่า ชาวบ้านลงเรือออกไปหาปลาในแม่น้ำปิงช่วงวันเดือนเพ็ญ เมื่อคิดถึงบ้าน จึงนำกะลาลอยอาหารผ่านสายน้ำปิง สู่คนที่บ้านซึ่งอยู่ท้ายน้ำ จึงสำนึกถึงบุญคุณของแม่น้ำสายนี้ที่เป็นทั้งแหล่ง อาหารและนำพาความคิดถึงไปสู่คนทางบ้าน ต่อมาได้มีการพัฒนาการทำกระทงสาย โดยใช้กะลาบรรจุน้ำมันเทียน ลอยในแม่น้ำปิง เพื่อรำลึกและทดแทนพระคุณแม่น้ำปิงจนกลายเป็นกระทงสาย และมีการทอดผ้าป่าน้ำ คล้ายๆ การบังสุกุล กรวดน้ำอุทิศบุญกุศล ให้กับเจ้ากรรมนายเวร ผู้มีพระคุณ สืบทอดมาเกือบร้อยปี
ประเพณีลอยกระทงสายจึงเป็นความภาคภูมิใจของคนจังหวัดตาก ซึ่ง ถือว่าเป็นประเพณีเดียวในประเทศไทย หรือแห่งเดียวในโลก การลอยกะลาเทียน หรือประทีปซึ่งประกอบด้วยกระทงนำ กระทงตามและกระทงปิดท้าย จะเน้นความสามัคคี จังหวะ การลอยสายประทีปให้ต่อเนื่องและเป็นกลุ่ม หลังจาก ลอยกระทงนำหรือกระทงประธาน หรือกระทงทาน ซึ่งเป็นกระทงที่มีธูป เทียน ดอกไม้ เครื่องเส้นไหว้ แม่น้ำ ต่อด้วยกระทงตามจะมีจำนวนกระทงตามหรือประทีป มากน้อยเท่าไรขึ้นอยู่กับผู้ที่จะแสดงความเคารพ ไม่จำกัดจำนวนและต่อท้ายด้วยกระทงปิดท้าย ดังนั้นประเพณีลอยกระทงสายจังหวัดตากเป็นประเพณีที่มีความสำคัญเหมาะสมในการ นำมาพัฒนารายวิชาเลือก เพื่อนำมาใช้ในการการจัดการศึกษานอกระบบตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการ ศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ระดับประถมศึกษา สาระการพัฒนาสังคม ซึ่งกำหนดให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ เห็นคุณค่าและสืบทอดศาสนา วัฒนธรรมประเพณีเของท้องถิ่นและประเทศไท
ประเพณียี่เป็ง เชียงใหม่
ใน ภาษาคำเมืองของทางเหนือ "ยี่" แปลว่า สอง และคำว่า "เป็ง" หมายถึง เพ็ญ หรือพระจันทร์เต็มดวง ดังนั้น จึงหมายถึง ประเพณีพระจันทร์เต็มดวงในเดือนสอง โดยในพงศาวดารโยนกและจามเทวี มีบันทึกว่าครั้งหนึ่งได้เกิดอหิวาตกโรคขึ้นในแคว้นหริภุญไชย (หรือหริภุญชัย) ทำให้ชาวเมืองต้องอพยพไปอยู่เมืองหงสาวดี นานถึง 6 ปี จึงจะเดินทางกลับมายังบ้านเมืองเดิมได้ เมื่อเวลาเวียนมาถึงวันที่จากบ้านจากเมืองไป จึงได้มีการทำกระถางใส่เครื่องสักการบูชา ธูปเทียนลอย ลอยตามน้ำเพื่อให้ไปถึงญาติพี่น้องที่ล่วงลับไป เรียกว่า การลอยโขมด หรือลอยไฟ
ประเพณียี่เป็ง จะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 13 ค่ำ ซึ่งถือว่าเป็น "วันดา" หรือวันจ่ายของเตรียมไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัด ครั้นถึงวันขึ้น 14 ค่ำ พ่ออุ้ยแม่อุ้ยและผู้มีศรัทธาก็จะพากันไปถือศีลฟังธรรม และทำบุญเลี้ยงพระที่วัด มีการทำกระทงขนาดใหญ่ตั้งไว้ที่ลานวัด ในกระทงนั้นจะใส่ของกินของใช้ ใครจะเอาของมาร่วมสมทบด้วยก็ได้ เพื่อเป็นทานแก่คนยากจน และในวันขึ้น 15 ค่ำ จึงนำกระทงใหญ่ที่วัดและกระทงเล็ก ๆ ของส่วนตัวไปลอยในลำน้ำ ใน งานบุญยี่เป็งนอกจากจะมีการปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์มหาชาติตามวัดวาอารามต่าง ๆ แล้ว ยังมีการประดับตกแต่งวัด บ้านเรือน และถนนหนทางด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้ ตุง ช่อประทีป และชักโคมยี่เป็งแบบต่าง ๆ ขึ้นเป็นพุทธบูชา พอตกกลางคืนก็จะมีมหรสพและการละเล่นมากมาย มีการแห่โคมทองพร้อมกับมีการจุดถ้วยประทีป (การจุดผางปะติ๊ด) เพื่อบูชาพระรัตนตรัย ซึ่งการจุดโคมไฟประดับตกแต่งตามวัดวาอาราม และการจุดโคมลอยปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวง สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตามความเชื่อการปล่อยว่าวไฟหรือโคมลอยนี้ เพื่อให้นำเอาเคราะห์ร้าย ภัยพิบัติต่าง ๆ ออกไปจากหมู่บ้าน ดังนั้น ว่าวหรือโคมลอยที่ปล่อยขึ้นไปถ้าไปตกในบ้านใคร บ้านนั้นต้องจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์เพื่อล้างเสนียดจัญไรทั้งปวงออกไป นอกจากนี้ ยังถือกันว่าเป็นการทำเพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และเพื่อความสนุกสนาน สร้างความสามัคคีกันในหมู่บ้านอีกด้วย
ปั่นฝ้าย สายบุญ จุลกฐิน ผาเงา
วัดพระธาตุผาเงา ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ได้จัดงาน ปั่นฝ้าย สายบุญ จุลกฐิน ผาเงา จัดขึ้นเพื่อรวบรวมปัจจัยสมทบทุนดำเนินการก่อสร้างหอพระบรมฉายามหาราชพุทธิรังสรรค์ เพื่อเก็บรวบรวมพระบรมฉายาลักษณ์เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พร้อมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้พระราชดำเนินทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดพระธาตุผาเงา และเป็นการสร้างเพื่อร่วมสมโภชเมืองเชียงราย
ดอกบัวตองบานบนดอยแม่อูคอ
จังหวัดแม่ฮ่องสอน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแม่ฮ่องสอน ขอเชิญทุกท่านไปสัมผัสกับความงดงามกับเทศกาล "ดอกบัวตองบานบนดอยแม่อูคอ " งานเทศกาลที่บ่งบอกถึงช่วงเริ่มต้นของฤดูกาลท่องเที่ยวในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปชมทุ่งดอกบัวตองบนดอยแม่อูคอ อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีพื้นที่มากกว่า 500 ไร่ บนความสูงกว่า 1,600 เมตร นับเป็นทุ่งดอกบัวตองที่ใหญ่และสวยที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งยังมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน และการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรบริเวณทุ่งดอกบัวตอง สำหรับทุ่งบัวตองเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่ง ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจุดเด่นที่เป็นทุ่งที่มีดอกบัวตองซึ่งเป็นดอกไม้สีเหลืองขึ้นเป็นจำนวนมาก อยู่บนภูเขาสูง เห็นวิวทิวทัศน์รอบ ๆ ทุ่งบัวตองเป็นภูเขาสลับซับซ้อนสวยงามมาก มีอากาศเย็นตลอดปี มีหมอกปกคลุมในตอนเช้า นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินทางมาเที่ยวชมทุ่งบัวตองปีละ หลายหมื่นคน
พลับพลึงธาร บานเร้นลับ ที่ผืนป่าคลองนาคา จังหวัดระนอง
พลับพลึงธาร คือที่สุดของความเร้นลับในผืนป่าคลองนาคา เดือนพฤศจิกายนของทุกปี ทั้งคลองนาคาจะเต็มไปด้วยดอกไม้หายากชนิดนี้ ผืน ป่าคลองนาคา กิ่งอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง เป็นป่าดงดิบผืนใหญ่ที่ต่อเนื่องกับป่าเขาสกและป่าคลองแสงในเขตจังหวัด สุราษฎร์ธานี และป่าศรีพังงา อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา จนกลายเป็นผืนป่าที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรภาคใต้ ความลี้ลับของป่าดงดิบผืนนี้มีอยู่มากมาย หนึ่งในนั้นคือความงามของ ดอกพลับพลึงธาร (Crinum thaianum) ไม้น้ำหายากซึ่งพบที่เดียวในเมืองไทย ณ คลองนาคา และเดือนพฤศจิกายนคือเดือนที่ พลับพลึงธารบานมาก
เส้นทางการเดินทาง จาก จังหวัดชุมพรใช้ทางหลวงหมายเลข 41 ถึงอำเภอหลังสวน แยกทางหลวงหมายเลข 4006 แล้วมาเจอกับทางหลวงหมายเลข 4 อีกครั้ง ที่บ้านราชกรูด มุ่งหน้าสู่ อำเภอกะเปอร์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา
งานไม้ดอกเมืองหนาวอำเภอภูเรือ
อำเภอภูเรือ เป็นอำเภอที่มีสภาพภูมิประเทศโดยที่ตั้งของอำเภอภูเรือมีลักษณะเป็นที่ราบ เชิงเขาและภูเขา มีอากาศที่หนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปี อุดมไปด้วยไม้ดอกไม้ประดับนานาชนิด โดยเฉพาะในช่วงเดือน ธันวาคม - กุมภาพันธ์ ของทุกปี จนได้ชื่อว่าเป็น “เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม ดอกไม้งามสามฤดู” การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเลย จึงขอเชิญท่านสัมผัสกับอากาศหนาว ท่ามกลางสายหมอก และดอกไม้นานาพันธุ์ ในงานไม้ดอกเมืองหนาวอำเภอภูเรือ ปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคมของทุกปี ท่านสามารถเลือกซื้อ และเพลิดเพลินกับไม้ดอกไม้ประดับหลากหลายชนิด อาทิ คริสต์มาส พิทูเนีย ผีเสื้อ สร้อยไก่ ซัลเวีย ดาวเรือง ไฮเดรนเยีย ฯ และเฟิร์นประเภทต่างๆ เที่ยว งานไม้ดอกเมืองหนาวอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย อำเภอภูเรือ จัดขึ้นที่บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอภูเรือ ในช่วงวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ประมาณวันที่ 31 ธันวาคม-3 มกราคม ของทุกปี ภายในงานจะจัดให้มีการออกร้านแสดงไม้เมืองหนาว การประกวดไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว งานราตรีแม่คะนิ้ง ลีลาศโต้ลมหนาว และการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรของชาวอำเภอภูเรือ
ฟลอร่า พาร์ค (อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา)
โครงการศูนย์การเรียนรู้ Flora Park เพื่อพัฒนาการเพาะพันธุ์การผลิตไม้ดอกไม้ประดับอย่างยั่งยืน ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย , องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมาและองค์กรพันธมิตรภาคเอกชน จัดงาน
“ Flora Park กลับมากอดวังน้ำเขียว...อีกครั้ง ” งานแสดงดอกไม้ยิ่งใหญ่ประจำปีต้อนรับฤดูหนาว ตระการตากับดอกไม้หลากสายพันธุ์กว่าแสนต้น กว่า 20 สายพันธุ์ในสวนสวยที่วังน้ำเขียว สัมผัสความประทับใจกับความสวยงามอลังการของเขาวงกตสวนดอกไม้แนวตั้งแบบ 360 องศาชื่นชมความยิ่งใหญ่ของสวนกุหลาบสไตล์อังกฤษกว่า 5,000 ต้น 400 สายพันธุ์พร้อมเรียนรู้วิถีการเกษตรอย่างยั่งยืนเต็มรูปแบบที่ฟาร์มฟ้า ประทาน
งานกระบี่เบิกฟ้าอันดามัน จังหวัดกระบี่
จังหวัด กระบี่ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หอการค้าจังหวัดกระบี่ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ สมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ และ ททท. กำหนดจัดงานกระบี่เบิกฟ้าอันดามัน จัดขึ้นประมาณต้นเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ณ ลานประติมากรรมปูดำ บริเวณปากน้ำหน้าเมืองกระบี่เพื่อประกาศความพร้อมเปิดรับฤดูกาลท่องเที่ยว ใหม่ กระบี่ เป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่อยู่ติดชายฝั่งอันดามัน ดังนั้นช่วงเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม จะเป็นช่วงมรสุม บางครั้งมีคลื่นลมแรง นักท่องเที่ยวจึงไม่นิยมเดินทางท่องเที่ยวทางทะเลในช่วงดังกล่าว แต่ก็เป็นโอกาสดีที่ท้องทะเลตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติต่างๆได้พัก ฟื้น และเมื่อเข้าสู่เดือนพฤศจิกายนของทุกปีชาวกระบี่จะพร้อมใจกันจัดงานกระบี่ เบิกฟ้าอันดามันขึ้น เพื่อประกาศถึงความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยว ในฤดูกาลท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึง สำหรับ การจัดงานในปีนี้ ได้เน้นการนำเสนอภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ ที่มีความแตกต่างและมีอัตลักษณ์เฉพาะพื้นที่ ทั้งนี้กิจกรรมในงานจะแบ่งเป็น 10 กลุ่มกิจกรรม ได้แก่ เมืองแห่งสุขภาพ รักษ์อ่าวลึก ลานตาลันตา เมืองศิลปิน เมืองแห่งวิถีชีวิตและวัฒนธรรม สวรรค์แห่งการท่องเที่ยว อิ่มหนำสำราญอาหารอร่อย ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ชุมชนสีเขียว และห้องรับแขกเมือง กิจกรรมในงานเริ่มตั้งแต่ 17.00 – 22.00 น.ทุกวัน และในแต่ละโซนจะมีกิจกรรมการแสดง การสาธิตต่างๆ